การใส่หน้ากากกับครอบครัว

การใส่หน้ากากกับครอบครัว

        หน้ากากช่วยหยุดไวรัสโควิด-19 แพร่กระจายเชื้อได้ แต่ก็อย่างที่พ่อแม่ผู้ปกครองทราบกันดีว่าการแนะนำให้เด็กสวมหน้ากากนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย
การสวมหน้ากากเพื่อจำกัดเชื้อโรคไม่ให้แพร่กระจายมีในบางประเทศมานานแล้ว แต่หลายๆ ครอบครัวเพิ่งจะรู้จักการสวมหน้ากากเป็นครั้งแรกในปี 2563 นี่เอง
หากคุณไม่เคยสวมหน้ากากมาก่อน คุณน่าจะมีคำถามและข้อสงสัยหลายเรื่อง เราได้รวบรวมข้อมูลล่าสุดเรื่องหน้ากากกับโควิด-19 จากผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งเรื่องวิธีการสวมและเก็บรักษาหน้ากากอย่างถูกต้อง และวิธีการแนะนำการสวมหน้ากากให้คนในครอบครัวคุณมาให้คุณแล้ว
 
        สำหรับข้อมูลเรื่องโควิด-19 อาการของโรค การแพร่กระจายเชื้อ และแนวทางการดูแลตัวเองและบุตรหลานได้ที่ โควิด-19 เรื่องที่พ่อแม่ผู้ปกครองควรรู้
หน้ากากอนามัยทั่วไป (หรือที่เรียกว่าหน้ากากผ้าหรือผ้าปิดหน้า): หากคุณและครอบครัวอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีโควิด-19 แพร่ระบาดและไม่มีอาการของโรค ควรสวมหน้ากากอนามัยทั่วไป
 
หน้ากากทางการแพทย์: โรคระบาดโควิด-19 ทำให้ทั่วโลกขาดแคลนหน้ากากทางการแพทย์ หากคุณหรือครอบครัวอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะป่วยหนักหากติดเชื้อโควิด-19 (อายุมากกว่า 60 ปีหรือมีปัญหาสุขภาพอยู่แต่เดิม) หรือเป็นผู้ดูแลผู้ป่วยโรคโควิด-19 หรือมีอาการโรค ควรสวมหน้ากากทางการแพทย์
 

หน้ากากประเภทใดดีที่สุด

        หน้ากากผ้าหรือผ้าปิดหน้าทำจากผ้าหลายชนิด และสามารถทำหรือซื้อจากร้านค้าได้ง่าย ๆ  ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีผลวิจัยบ่งชี้ถึงการใช้หน้ากากผ้าอย่างชัดเจน แต่ประสิทธิภาพของการใช้หน้ากากประเภทนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของผ้าและหน้ากากว่าทำด้วยผ้ากี่ชั้น องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าหน้ากากควรมี 3 ชั้น ประกอบด้วย:
 
– ชั้นในสุดทำจากวัสดุที่ดูดซับน้ำได้ เช่น ผ้าฝ้าย
– ชั้นกลางเป็นวัสดุไม่ถักทอ เช่น โพลีโพรพิลีน 
– ชั้นนอกสุดทำจากวัสดุไม่ดูดซับน้ำ เช่น โพลีเอสเตอร์ หรือโพลีเอสเตอร์ผสม
– แต่ไม่ว่าคุณจะเลือกใช้หน้ากากประเภทใด หน้ากากที่ดีควรปิดคลุมจมูก ปากและคาง และยึดด้วยสายยางยืดหรือเชือกผูก
– องค์การอนามัยโลกไม่แนะนำให้ใช้หน้ากากที่มีวาล์วระบายอากาศ เนื่องจากทำให้อากาศที่ไม่กรองเล็ดลอดได้ซึ่งทำให้ประสิทธิภาพด้อยลงในการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคต่างๆ เช่น เชื้อโควิด-19
 

ใช้แผ่นครอบใสป้องกันใบหน้า (เฟซชีลด์) ดีไหม

        หน้ากากใสป้องกันใบหน้า (เฟซชีลด์) ช่วยป้องกันดวงตาได้ แต่ไม่เหมือนกับหน้ากากในการป้องกันละอองฝอยจากระบบทางเดินหายใจ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่สภาพร่างกายไม่เหมาะกับการสวมหน้ากาก (เช่น ผู้บกพร่องทางสติปัญญา ผู้ที่หายใจไม่สะดวก และผู้มีปัญหาการได้ยิน) อาจเลือกสวมเฟซชีลด์แทนการสวมหน้ากาก ซึ่งเฟซชีลด์ที่ใช้ควรยาวปิดด้านข้างของใบหน้าและใต้คาง
 

เมื่อใดที่คนในบ้านควรสวมหน้ากาก

– ตรวจสอบว่าหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ของคุณกำหนดให้สวมหน้ากากในสถานที่บางแห่ง และกำหนดอายุของผู้สวมหรือไม่ 
– มีหลายปัจจัยในการกำหนดว่าบุตรหลานของคุณควรใส่หน้ากากหรือไม่ ซึ่งรวมถึงอายุ และความสามารถที่จะใช้หน้ากากได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัย ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ข้อแนะนำของยูนิเซฟและองค์การอนามัยโลก 
– หากมีโรคโควิด-19 แพร่ระบาดอยู่ในย่านที่คุณอาศัย ควรสวมหน้ากากเมื่ออยู่นอกบ้านในพื้นที่ที่รักษาระยะห่างจากผู้อื่นได้ยาก และสวมหน้ากากไว้ตลอดเวลาเมื่ออยู่ภายในอาคาร ควรเลี่ยงพื้นที่แออัดและพื้นที่ภายในอาคารที่อากาศไม่ถ่ายเทให้มากที่สุด 
– มีข้อมูลที่ไม่ถูกต้องมากมายถึงการใช้หน้ากากและการแพร่กระจายเชื้อโรคโควิด-19 ดังนั้นควรศึกษาข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น ยูนิเซฟ องค์การอนามัยโลก และหน่วยงานสาธารณสุขท้องถิ่น เพื่อให้ตัดสินใจเรื่องสุขภาพของครอบครัวได้เหมาะสมที่สุด
 

เมื่อใดที่ไม่ควรสวมหน้ากาก

– บุคคลที่ถอดหน้ากากด้วยตนเองไม่ได้ เช่น เด็กอ่อน เด็กเล็ก หรือบุคคลที่หายใจลำบาก ไม่ควรสวมหน้ากาก
– ยูนิเซฟและองค์การอนามัยโลกแนะนำว่าเด็กอายุ 5 ปีและต่ำกว่าไม่ควรต้องกำหนดให้สวมหน้ากาก  ซึ่งอิงหลักความปลอดภัยของเด็กเป็นเกณฑ์และตระหนักว่าเด็กแต่ละช่วงวัยมีระดับพัฒนาการต่างกัน
– บางประเทศอาจมีคำแนะนำให้เด็กสวมหน้ากากที่แตกต่างออกไป จึงควรตรวจสอบกับหน่วยงานท้องถิ่นในเรื่องข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับอายุของผู้สวมหน้ากาก หากท้องถิ่นของคุณกำหนดให้เด็กอายุ 5 ขวบหรือน้อยกว่าต้องสวมหน้ากาก เด็กควรอยู่ในสายตาคุณหรือผู้ดูแลคนอื่นเพื่อดูแลการใช้หน้ากากอย่างใกล้ชิดเพื่อความปลอดภัย
– หากคุณหรือคนในครอบครัวมีปัญหาสุขภาพหรือความทุพลภาพที่ส่งผลต่อการสวมหน้ากาก ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด
– เวลาออกกำลังกาย ควรทำในพื้นที่ที่ไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากาก เช่น ในบ้านหรือพื้นที่เปิด (เช่น กลางแจ้ง) ที่สามารถรักษาระยะห่างจากผู้อื่นได้ เด็กและผู้ใหญ่ไม่ควรสวมหน้ากากขณะเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายเพื่อให้หายใจได้สะดวก เหงื่ออาจทำให้หน้ากากเปียกทำให้หายใจลำบาก และหน้ากากเปียกจะเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค 
 

ควรเลือกหน้ากากให้บุตรหลานอย่างไร

        หน้ากากส่วนใหญ่ออกแบบมาให้ผู้ใหญ่สวมและไม่พอดีกับใบหน้าของเด็ก เวลาเลือกซื้อหน้ากากให้เด็กควรเลือกขนาดที่เหมาะกับเด็ก ไม่ว่าจะซื้อหรือทำหน้ากากให้เด็กเอง ต้องดูว่าหน้ากากนั้นคลุมปาก จมูก และคางของเด็ก และไม่มีช่องว่างทางด้านข้างใบหน้า หรือบังการมองเห็น เด็กต้องหายใจได้สบายขณะสวมหน้ากากในเวลาที่เดินไปพูดไป
 
ควรทำความสะอาดหน้ากากอย่างไร
       ใช้สบู่หรือผงซักฟอกซักทำความสะอาดหน้ากากในน้ำร้อน (อย่างน้อยที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส) อย่างน้อยวันละครั้ง หากใช้เครื่องซักผ้าให้เลือกระดับน้ำร้อนที่สุดที่เหมาะกับชนิดของผ้า หากซักด้วยมือควรใช้น้ำร้อนละลายสบู่ หลังจากซักเรียบร้อยควรตากหน้ากากให้แห้งสนิทก่อนนำมาสวมอีกครั้ง เก็บหน้ากากไว้ในถุงที่สะอาด
 

วิธีสวมหน้ากากที่ถูกต้อง

        การสวม การถอด และการดูแลรักษาหน้ากากที่ถูกต้องนั้นสำคัญต่อการรักษาสุขภาพของตนเองและผู้คนรอบข้าง ควรทำตามขั้นตอนต่อไปนี้ให้เป็นกิจวัตร
 
เมื่อสวมหน้ากาก
– เริ่มต้นด้วยการล้างมือด้วยสบู่และน้ำก่อนสวมหน้ากากเสมอ
– หน้ากากต้องสะอาด ไม่ฉีกขาดหรือมีรู หากหน้ากากสกปรกหรือฉีกขาดไม่ควรนำมาสวม
– ปรับหน้ากากให้ปิดปาก จมูก และคางพอดี ไม่มีช่องว่างด้านข้าง
– หน้ากากต้องสวมแล้วหายใจได้สบาย  ขณะสวมหน้ากาก
– เปลี่ยนสวมชิ้นใหม่หากหน้ากากสกปรกหรือเปียก
– อย่าดึงหน้ากากลงมาไว้ใต้จมูกหรือคาง หรือสวมไว้บนศีรษะ หน้ากากที่ปิดปากและจมูกจึงจะป้องกันเชื้อโรคได้เต็มที่
– อย่าจับหน้ากากขณะสวม
เคล็ดลับ: หากคุณและครอบครัวจะต้องถอดหน้ากากออกแล้วสวมใหม่ระหว่างวัน ควรเก็บหน้ากากในถุงที่เปิดปิดได้ ใช้ถุงแยกชิ้นเก็บหน้ากากแต่ละชิ้นของคนในครอบครัว เพื่อเลี่ยงการแพร่เชื้อโรค ขณะเก็บหรือดึงหน้ากากออกจากถุงควรจับที่ยางยืดหูหน้ากากหรือเชือกผูก (โดยไม่จับที่ตัวหน้ากาก) อย่าลืมล้างมือก่อนสวมหน้ากาก
 
เมื่อถอดหน้ากาก
– ล้างมือก่อนถอดหน้ากาก
– ใช้มือจับที่ยางยืดหรือเชือก เลี่ยงการจับด้านหน้าของหน้ากาก
– ล้างมือหลังจากถอดหน้ากาก
– ควรซักทำความสะอาดหน้ากากผ้าหลังการใช้งานทุกครั้งและเก็บหน้ากากในถุงที่สะอาด
– หน้ากากทางการแพทย์ใช้ได้ครั้งเดียว ควรทิ้งหน้ากากดังกล่าวในถังที่มีฝาปิด
 
เลี่ยงการสวมหน้ากากผิดวิธีทั้ง 6 แบบ
        1. อย่าดึงหน้ากากลงมาไว้ใต้จมูก
        2. อย่าใส่เปิดคาง
        3. อย่าดึงหน้ากากลงมาไว้ใต้คาง
        4. อย่าสัมผัสหน้ากากขณะสวมอยู่
        5. อย่าสวมหน้ากากที่หลวมเกินไป
        6. อย่าสวมหน้ากากที่สกปรก ฉีกขาด หรือเปียก
 

เริ่มจากที่บ้าน

เริ่มด้วยการลองสวมหน้ากากด้วยกันตอนที่อยู่บ้านก่อนแล้วค่อย ๆ สวมให้นานขึ้นหลังจากนั้นเพื่อให้เด็กๆ คุ้นชินกับการสวมหน้ากาก ทำตามขั้นตอนข้างต้นไปด้วยกันกับเด็กๆ เพื่อช่วยฝึกการสวมหน้ากากและถอดหน้ากาก
พึงระลึกว่าเด็กเล็กอ่านสารจากสิ่งที่มองเห็นเป็นหลัก เช่น รอยยิ้ม จึงควรฝึกยิ้มขณะสวมหน้ากากให้เด็กๆ เห็นและใช้น้ำเสียงช่วย อาจลองสวมหน้ากากให้ตุ๊กตาตัวโปรดของลูกเพื่อช่วยให้ชินกับหน้ากากมากขึ้น
 
ให้เด็กๆ มีส่วนร่วม
หน้ากากมีหลากสีและหลายแบบ และเด็กๆ อาจมองเป็นโอกาสที่จะได้แสดงตัวตนออกมา ลองทำให้กิจกรรมเลือกหน้ากากเป็นเรื่องสนุกและให้ลูกมีส่วนร่วมให้มากที่สุด  ยิ่งเด็ก ๆ ชอบหน้าตาของหน้ากากมากเท่าไร ก็จะยิ่งสวมหน้ากากได้ง่ายมากขึ้นเท่านั้น แม้ในยามที่คุณไม่ได้อยู่ด้วย 
 
ทำตัวเสมอต้นเสมอปลาย
การสวมหน้ากากเป็นการสร้างนิสัยใหม่ ดังนั้นสิ่งสำคัญคือการปฏิบัติตนที่ถูกวิธีเป็นตัวอย่างและทำซ้ำๆ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง  หาวิธีย้ำเตือนถึงความสำคัญของการสวมหน้ากากอย่างถูกต้อง และกระตุ้นให้คนในครอบครัวคอยตักเตือนกันถ้าทำสิ่งใดไม่ถูกต้อง เด็กจับความไม่เสมอต้นเสมอปลายได้ไว ดังนั้นต้องระวังว่าคุณเป็นตัวอย่างแบบใดและกระตุ้นเตือนญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงใกล้ตัวให้ทำตามคำแนะนำการใส่หน้ากากด้วย
 
ที่มา : UNICEF

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *